วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการบวกและการลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้



                                                                             

                                                                                   บทคัดย่อ

                 การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและบริบทของโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง)  (2) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการบวกและการลบ       ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ และ(3)เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์เรื่องการบวกการลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 70 ขึ้นไป
                 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557  โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง) สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 31 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ (1) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการบวกและการลบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3  ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ จำนวน 16 แผน  (2) เครื่องมือที่ใช้สะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตการณ์จัดการเรียนการสอน แบบบันทึกผลการใช้แผนการสอน แบบบันทึกการสัมภาษณ์นักเรียน แบบบันทึกประจำวันของครู แบบบันทึกทักษะประจำบทเรียน แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร (3) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
                 รูปแบบในการวิจัยครั้งนี้ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการ 4 วงจร คือ วงจรปฏิบัติที่ 1 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1-4 วงจรปฏิบัติที่ 2 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 5-8 วงจรปฏิบัติที่ 3 ประกอบด้วยแผนการสอนที่ 9-12 วงจรปฏิบัติที่ 4 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 13-16 โดยใช้รูปแบบการสอนที่สร้างขึ้น ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ทำการบันทึก สังเกต สัมภาษณ์นักเรียน เมื่อสิ้นสุดในแต่ละวงจรปฏิบัติจะทำการทดสอบย่อยเพื่อประเมินความก้าวหน้า แล้วจึงสะท้อนผลการปฏิบัติที่ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึก สังเกต สัมภาษณ์นักเรียนและผลงานนักเรียน มาวิเคราะห์อภิปรายเพื่อปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอนในวงจรต่อไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

                 ผลการวิจัยพบว่า
                     (1) ผลการศึกษาสภาพปัญหาและบริบทของโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง) สรุปว่าประเด็นปัญหาที่สำคัญมี 2 ประเด็น คือ ด้านตัวครูผู้สอน ที่จัดการเรียนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางในการเรียน ครูขาดการเตรียมการสอน ยึดแบบเรียนมาตรฐานเป็นหลัก ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดโดยไม่เข้าใจ ขาดเทคนิคการสอนและวิธีการสอน ทำให้การนำเสนอไม่หลากหลายและในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เน้นให้นักเรียนทำตามมากกว่าให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในมโนมติและกระบวนการแก้ปัญหาด้วยตัวนักเรียนเอง  และด้านตัวนักเรียน นักเรียนส่วนใหญ่ยังขาดแนวทางในการคิดแก้ปัญหาที่หลากหลายเนื่องจากจำเพียงวิธีการเดียวที่ครูสอนในการหาคำตอบเท่านั้น นักเรียนที่อ่อนไม่สนใจและไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อน นักเรียนไม่ได้รับการส่งเสริมให้เรียนร่วมกันเป็นกลุ่ม ทำให้นักเรียนขาดทักษะการทำงานร่วมกัน และไม่ได้ช่วยเหลือกันในการเรียนรู้
                     (2) การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนการบวกและการลบ ตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ พบว่าผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตัวนักเรียนเอง สามารถนำประสบการณ์ในชีวิตประจำวันมาสัมพันธ์กับคณิตศาสตร์ รวมถึงการช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถในการใช้กระบวนการคิดของตนเองแก้ปัญหา ซึ่งรูปแบบการสอนการบวกและการลบตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 ขั้น คือ 1) ขั้นนำ เป็นการแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้และทบทวนความรู้เดิม 2) ขั้นสอน ประกอบด้วย  (1) การเผชิญสถานการณ์ (2) การสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง (3) การตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ  (4) การเสนอความรู้ความเข้าใจต่อกลุ่มใหญ่  3) ขั้นสรุป เป็นการสรุปมโนมติความรู้และหลักการต่างๆ ที่ได้เรียนในแต่ละชั่วโมง  4) ขั้นศึกษากลุ่มย่อย เป็นการพัฒนาทักษะโดยนักเรียนจะเข้ากลุ่มย่อย ศึกษาบัตรเนื้อหาทำกิจกรรมจากบัตรกิจกรรมซึ่งเป็นสื่อกลางเพื่อช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ และตรวจสอบคำตอบจากบัตรเฉลย  5) ขั้นพัฒนาการนำไปใช้เป็นการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้แกปัญหาในสถานการณ์ใหม่ โดยการทำแบบฝึกทักษะประจำบทเรียน
                     (3) นักเรียนที่ได้รับการสอนตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์และการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคิดเป็นร้อยละ 74.57  สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 70 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 80.64  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์จำนวนนักเรียนที่กำหนดไว้ร้อยละ 70

การพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่องการคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3




               การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนกับก่อนเรียน โดยใช้ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณ และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะ
                    กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/3  โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง) สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 27 คน      ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย ดำเนินการใช้แผนการทดลองแบบ One - Group Pre-test post-test Design เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือ ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 12 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งมีค่าความยากตั้งแต่ .45-.71 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .25-.75 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .85 และแบบประเมินความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่า t

                 ผลการวิจัยพบว่า
                     1. ชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3     ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 75.50/78.15 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 75/75 ที่ตั้งไว้
                     2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอน               โดยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่องการคูณ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
                     3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต่อการเรียนด้วยชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่องการคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในภาพรวมอยู่ในระดับดี คือนักเรียนมีความพึงพอใจในรูปเล่ม กิจกรรมและพึงพอใจที่ได้มีส่วนร่วมได้ศึกษาและเรียนรู้ด้วยตนเองในระดับมากที่สุด ซึ่งมีค่าร้อยละ 74.08 เท่ากัน ส่วนความพอใจการอธิบายของข้อตัวอย่างในชุดฝึก มีความรู้สึกอยากเรียนคณิตศาสตร์และรู้สึกตื่นเต้นอยากเรียนด้วยชุดฝึกทักษะอยู่ในระดับมาก ซึ่งมีค่าร้อยละ 92.60 และ 62.97 ตามลำดับ ส่วนด้านการพัฒนาความรู้และทักษะของชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา นักเรียนมีความพึงพอใจในการนำเอาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาไปใช้และการที่ได้ฝึกคิดและจินตนาการในการหาคำตอบในระดับมากที่สุด ซึ่งมีค่าร้อยละ 92.60 และ 81.49 ตามลำดับ  และนักเรียนมีความพึงพอใจในการได้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการแก้โจทย์ปัญหา 4 ขั้นตอน นักเรียนมีทักษะในการแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์และพอใจที่มีความสามารถในการแต่งโจทย์ปัญหาในระดับมาก ซึ่งมีค่าร้อยละ 74.08 , 66.67 และ 62.97 ตามลำดับ